Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

คุณแม่ตั้งครรภ์ ดูแลน้ำหนักอย่างไรให้พอดี

10 มี.ค. 2567


   คุณแม่ตั้งครรภ์ล้วนอยากให้ลูกมีสุขภาพดีคลอดออกมาอย่างแข็งแรงและปลอดภัย น้ำหนักตัวเหมาะสม ดังนั้นในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จึงสรรหาของที่มีประโยชน์มาบำรุง เลือกทานอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพของตัวเองและลูกในท้อง แต่การบำรุงมากจนเกินไปอาจส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้คุณแม่บางท่านเกิดความกังวลใจได้ แล้วน้ำหนักตัวคนท้องในแต่ละเดือนควรเพิ่มขึ้นกี่กิโลกรัมถึงจะดีต่อตัวเองและลูกในท้อง
การเพิ่มของน้ำหนักตัวที่เหมาะสมระหว่างการตั้งครรภ์
   เมื่อคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์ส่วนใหญ่พยายามกินนั่นกินนี่ให้มากๆ หรือมีคนคอยดูแลหาอาหารมาคอยบำรุงอยู่ตลอดเวลาเพราะกลัวว่าลูกในท้องจะไม่แข็งแรงสมบูรณ์ จนกระทั่งเมื่อไปฝากครรภ์ก็มักจะพบว่าตัวเองน้ำหนักขึ้นมากเกินไปเสียแล้ว
คุณแม่ควรดูแลน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นอย่างพอเหมาะตลอดการตั้งครรภ์ โดยน้ำหนักที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับน้ำหนักของคุณแม่ก่อนการตั้งครรภ์ด้วย โดยดูจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งคำนวณดังนี้

BMI  = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร)2

BMI ก่อนการตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขี้นตลอดระยะการตั้งครรภ์
< 18.5  13 - 18
18.5 – 22.9 11 - 16
>23 7 - 9


แม่ท้องควรน้ำหนักขึ้นเท่าไหร่ ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน

  • น้ำหนักตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 1
   ช่วงนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ยังมีอาการแพ้ท้อง น้ำหนักตัวคุณแม่ตั้งครรภ์อาจเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยอาจเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 1 - 1.5 กิโลกรัม หรือบางรายที่แพ้ท้องมาก ก็อาจมีน้ำหนักลดลงได้
  • น้ำหนักตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 2
   คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการแพ้ท้องแล้ว หรือยังมีหลงเหลือบ้างนิดหน่อย น้ำหนักตัวของคุณแม่ในช่วงนี้ควรเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 1 ถึง 1.5 กิโลกรัม หรือรวมตลอดไตรมาส 2 นี้เพิ่มขึ้นประมาณ 4 - 5 กิโลกรัมเท่านั้น
  • น้ำหนักตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 3
   ช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกน้อยในครรภ์ตัวโตขึ้น มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น น้ำหนักตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะเพิ่มขึ้นไม่เกินเดือนละ 2 กิโลกรัม  หรือรวมตลอดช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ประมาณ 5 - 6 กิโลกรัม ไตรมาสสุดท้ายนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังในการรับประทานอาหารมาก เพราะช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกหิวบ่อย และร่างกายเริ่มเคลื่อนไหวน้อย เพราะเคลื่อนไหวลำบาก ทำให้เผาผลาญพลังงานได้ไม่มาก น้ำหนักจะขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้

อาหารและสารอาหารที่เหมาะสมกับคุณแม่ตั้งครรภ์

อายุครรภ์ อาหารและสารอาหารที่เหมาะสม
เดือนที่ 1
  • ดื่มน้ำผลไม้สด หรือนมวันละ 1 แก้ว แต่หากแพ้ท้องควรงดนมไว้ก่อน
  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโฟเลต และอาหารประเภทปลาทะเลที่มีดีเอชเอ เช่น ปลาทูน่า หรือน้ำมันสกัดจากผลิตภัณฑ์ทางทะเล ที่จะส่งผลต่อระบบการทำงานของเซลล์สมองลูกน้อยในครรภ์
เดือนที่ 2
  • คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ และอาเจียนบ่อย อาจทำให้สูญเสียน้ำและสารอาหารบางอย่าง จึงควรรับประทานอาหารอ่อนๆที่ย่อยง่าย มีโปรตีนสูง เช่น ข้าวต้ม หรือ โจ๊ก
  • ควรรับประทานผลไม้สด เป็นอาหารว่าง
เดือนที่ 3
  • คุณแม่บางท่านอาจเริ่มมีอาการท้องผูก จึงควรดื่มน้ำให้มาก หรือรับประทานผัก ผลไม้มากๆ เพื่อเพิ่มเส้นใยที่จะช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
เดือนที่ 4
  • ทารกในครรภ์เริ่มมีการสร้างกระดูกและฟัน คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว เน้นอาหารประเภทโปรตีนและธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะมีอยู่ในตับ ไข่แดง นม ใบตำลึง ใบขี้เหล็ก ฯลฯ
เดือนที่ 5
  • เพราะสมองและระบบประสาทของลูกน้อยยังเจริญเติบโต คุณแม่ควรรับประทานสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อย ได้แก่ ดีเอชเอ โฟเลต สังกะสี และวิตามินบี 12 แหล่งอาหารที่อุดมด้วยสารอาหารพัฒนาสมอง เช่น นม ไข่ เนื้อ ปลา อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว ถั่วลิสง หรือเครื่องในสัตว์
เดือนที่ 6
  • คุณแม่อาจเป็นตะคริวบ่อยครั้งในช่วงนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินสูง เช่น นม ข้าวซ้อมมือ ผักใบเขียว ไข่ ถั่วลิสง หรือเครื่องในสัตว์
เดือนที่ 7
  • ช่วงนี้คุณแม่จะต้องการพลังงานจากสารอาหารมากขึ้น คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ เนื้อปลา ปลาเล็กปลาน้อย ผัก และ ผลไม้ เพื่อสะสมสารอาหารที่จำเป็นไว้สำหรับเตรียมให้น้ำนมกับลูกหลังคลอด
เดือนที่ 8
  • เริ่มมีการสร้างเนื้อเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทในสมอง และจะมีการสร้างต่อไปอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังคลอด คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารอาหารพัฒนาสมอง เช่น นม ไข่ เนื้อปลา อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ
เดือนที่ 9
  • เป็นระยะใกล้คลอดแล้ว ดังนั้นคุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นแคลเซียม เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนมให้เพียงพอหลังคลอด และควรรับประทานธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ อาหารทะเล  นม ไข่ ถั่ว เมล็ดแห้ง งา ฯลฯ ให้มากขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณโลหิตที่จะต้องสูญเสียในขณะคลอด

สารอาหาร...สิ่งมหัศจรรย์ แห่งพัฒนาการสมองลูกน้อยในครรภ์

  • ดีเอชเอ กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการและการทำงานของสมอง และจอประสาทตาของลูกในครรภ์ เนื่องจากสมองมีไขมันเป็นส่วนประกอบ 50 - 60 % โดยจะเริ่มสะสมดีเอชเอตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ระยะ 3 เดือนสุดท้าย จนถึงอายุ 18 เดือนหลังคลอด ซึ่งมีการสะสมดีเอชเอที่จอประสาทตาสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 36 - 40 ทารกในครรภ์ และช่วงแรกเกิดมีความสามารถในการนำกรดไขมัน โอเมก้า 3 (เป็นสารตั้งต้นของดีเอชเอ) ไปใช้ได้อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องได้รับจากคุณแม่ผ่านทางรกและจากนมแม่แทน คุณแม่จึงต้องเลือกอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอ เพื่อลูกน้อยโดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ และ 3 เดือนแรกของการให้นม
       ดังนั้น การที่คุณแม่รับประทานอาหารที่มีดีเอชเอ และกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ (เดือนที่ 7 - 9) จะทำให้สมองของลูกน้อยมีการเจริญเติบโตที่ดี เพราะได้รับดีเอชเอเพียงพอต่อการสร้างเซลล์สมองนับล้านๆ เซลล์ดีเอชเอ พบมากในปลาทะเล สาหร่ายทะเลบางชนิด น้ำมันสกัดจากผลิตภัณฑ์ทางทะเล
  • โคลีน องค์ประกอบสำคัญในกระบวนการต่างๆ ของร่างกายแม่ละทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาสมองระยะแรกของทารก ยิ่งไปกว่านั้น โคลีน เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ รวมถึงสารสื่อประสาทที่ใช้ในการเสริมสร้างการเรียนรู้ และความจำ สถาบันทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (US institute of Medicine) จึงกำหนดปริมาณโคลีนที่เพียงพอสำหรับทารก เด็ก ผู้ใหญ่ และหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร คือ หญิงตั้งครรภ์ 450 มิลิกรัม/วัน หญิงให้นมบุตร 550 มิลลิกรัม/วัน โคลีน พบมากในไข่แดง นมถั่วเหลือง ดอกกะหล่ำ และธัญพืชต่างๆ
  • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารก ให้แข็งแรง ช่วยให้การส่งสัญญาณของระบบประสาททำงานได้ถูกต้อง คุณแม่จึงควรได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพื่อให้ลูกน้อยนำไปใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน แคลเซียมพบมากใน นม กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็ก เต้าหู้ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ผักโขม ยอดแค มะเขือพวง คื่นฉ่าย ใบชะพลู
  • โฟเลต พัฒนาเซลล์สมองระบบประสาทของลูกให้สมบูรณ์ ป้องกันความผิดปกติของสมองและไขสันหลัง คุณแม่ควรได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ และเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก เพราะการขาดโฟเลตอาจจะมีผลต่อการสร้างระบบประสาทของทารกผิดปกติ หรือทำให้เกิดความพิการได้
    โฟเลตพบมากในผักใบเขียว ผลไม้ เช่น ถั่วลันเตา คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ปวยเล้ง หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี่ กล้วยน้ำว้า น้ำส้มคั้น รวมถึงข้าวซ้อมมือ ตับหมู ตับไก่ ขนมปังโฮลวีต
  • ธาตุเหล็ก เป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง มีบทบาทในการนำพาออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของ ร่างกาย ช่วยพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้
    ธาตุเหล็ก พบมากในเนื้อสัตว์ เนื้อแดง ใบขี้เหล็ก ใบตำลึง ถั่วเหลือง
  • โปรตีน มีหน้าที่สำคัญต่อโครงสร้างและกิจกรรมภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต เป็นแหล่งสำรองพลังงาน หรือพูดง่ายๆว่าร่างกายคนเราไม่สามารถขาดโปรตีนได้เลย ในแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องการโปรตีนเพื่อนำไปสร้างเนื้อเยื่อ ให้ลูกน้อยในครรภ์เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์
    โปรตีน พบมากในเนื้อสัตว์ต่างๆ นม ไข่ ถั่วต่างๆ
  • วิตามิน เสริมสร้างร่างกายคุณแม่ให้แข็งแรง ปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานประสานกันได้อย่างดีและยังมีส่วนช่วยบำรุงประสาท และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลูกน้อยในครรภ์ให้แข็งแรงอีกด้วย
    วิตามิน พบมากในนมสด ไข่แดง ผักใบเขียว ผลไม้สีเหลือง เครื่องในสัตว์ ผลไม้รสเปรี้ยว มะเขือเทศ ฝรั่ง ปลา ถั่ว
   คุณแม่ตั้งครรภ์ที่น้ำหนักตัวมากเกินไป ไม่ควรใช้วิธีอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักเพราะจะทำให้ลูกขาดสารอาหารและเสี่ยงต่อการแท้งมากขึ้น ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำหนักขึ้นน้อยก็ต้องดูแลเรื่องการกินให้เหมาะสม

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.นพดล จันทรเทพเทวัญ แพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช
ศูนย์สตรี ชั้น 8 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์สตรี



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.